วันพุธที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

จริงหรือที่วีรบุรุษผู้นี้ เป็น 1 ใน 4 วายร้ายของโลกตลอดกาล (Ernesto Rafael Guevara de la Serna)

จากหนังสือพิมพ์ เดลินิวส์ ฉบับวันพุธ ที่ 11 พ.ค. 54  สกรูป เรื่อง "สันติภาพ(ไม่)มีในโลก?ความขัดแย้งที่รอจุดจบ" กล่าวถึง 4 ผู้ร้ายในสายตาชาวโลก



ความขัดแย้งที่รอจุดจบ

         
           หลังจากตามล่า “บิน ลาเดน” มาเนิ่นนานผู้นำสหรัฐอเมริกาก็ออกมาประกาศถึงการสังหารผู้นำกลุ่มอัล-กออิดะห์ได้สำเร็จ แต่ไม่นานก็มีเสียงร่ำลือว่านั้นเป็นเพียงข่าวลือ “บิน ลาเดน” แต่จะเสียชีวิตจริงหรือไม่ ทุกอย่างยังไม่จบ การแก้แค้นของสองฝ่ายยังคืบคลานและคร่าชีวิตมนุษย์กันอยู่เรื่อย ๆ แน่นอนว่าประชาชนในพื้นที่ซึ่งทำการรบย่อมได้รับผลกระทบไม่มากก็น้อยกับสิ่งที่เกิดขึ้น!
  
จึงมีคำเปรียบเปรยอันสวยหรูที่แปลได้สองด้านคือ สันติภาพ (ไม่) มีในโลก? ที่ผ่านมาเกิดสงครามมากมายทั่วทุกมุมโลก และมีผู้นำหลายคนที่ต่อกรกันอย่างข้ามวันข้ามปี จากที่ผ่านมามีหลายเหตุการณ์สะท้อนให้เห็นถึงความต้องการของคนในโลก และมีหลายสงครามที่ชาติตะวันตกและสหรัฐอเมริกาเข้าไปเกี่ยวข้อง
  
“ไม่มีวันที่ทั้งโลกจะมีสันติภาพแบบร้อยเปอร์เซ็นต์” ดร.สมเกียรติ อริยปรัชญา คณบดีสถาบันการทูตและการต่างประเทศ ม.รังสิต กล่าวก่อนเล่าถึงภาวะความขัดแย้งอันนำสู่สงครามในหลายมุมโลกว่า ความขัดแย้งถือเป็นเรื่องปกติของโลกที่เห็นมาตั้งแต่อดีต อย่างยุโรปสมัยกรีกหรือโรมัน และมีพัฒนาการด้านอาวุธมาอย่างต่อเนื่อง ระยะแรกเจ้าเมืองนึกอยากจะรบกับใครก็รบได้เหมือนยุคสุโขทัยและอยุธยา ยังไม่มีองค์การที่เป็นตัวกลางเหมือนสมัยนี้
  
ต่อมาความขัดแย้งพัฒนาสู่ผลประโยชน์ของรัฐมากขึ้นอย่าง ปัญหาการเมือง เศรษฐกิจ วัฒนธรรม ศาสนา การค้าขาย แต่การรุกรานยังจำกัดวงอยู่ในทิศทางแคบ ๆ จวบจนการเดินเรือและการใช้นาฬิกาเข้ามามีบทบาท เทคโนโลยีเหล่านี้ทำให้มนุษย์เริ่มมองไปยังดินแดนที่ไกลขึ้นเพื่อสร้างอาณานิคมของตนด้วย
  
ในยุคล่าอาณานิคมประเทศในยุโรปที่เดินเรือได้พอเห็นประเทศที่เป็นคู่แข่งยึดเมืองขึ้นได้ก็เกิดการแย่งชิง จนหลายครั้งยุโรปก็รบกันเอง และสร้างความเสียหายมากมาย หรือสงครามศาสนาเช่น สงครามครูเสด ที่พอฝ่ายศาสนารบชนะก็จะทุบโบสถ์ของผู้แพ้และสร้างโบสถ์ของศาสนาตนเองทับที่เก่า
  
ถ้าหากมองสงครามที่ประเทศในยุโรปและสหรัฐรบร่วมกันเริ่มตั้งแต่ ยุค อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ของเยอรมนีก่อให้เกิดสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งครั้งนั้นเป็นการรบระหว่างประเทศในยุโรปด้วยกัน ผู้ชนะได้ตั้งองค์กรเพื่อเป็นตัวกลางในการป้องกันไม่ให้เกิดสงครามโลกขึ้นอีก
  
ในยุคต่อมาเป็นการต่อสู้ของชาติตะวันตกและสหรัฐอเมริกา เพื่อต่อต้านคอมมิวนิสต์ที่อยู่ตรงข้ามกับแนวทางประชาธิปไตยของตน ซึ่งสงครามเย็นครั้งนั้นมีสหภาพโซเวียตและสหรัฐอเมริกาเป็นคู่ปรับที่ต่อสู้กันมาอย่างยาวนาน รวมถึงส่งผลกระทบต่อหลายประเทศทั่วโลก หรือบุคคลอย่าง เช เกวารา ที่ถูกสังหารในโบลิเวีย ด้วยแนวความคิดทางการเมืองซึ่งไม่ตรงกัน และส่งผลให้ภาพลักษณ์ของเขาเป็นตัวแทนของการค้นหาแนวความคิดทางการเมืองของหนุ่มสาว
  
ขณะที่ผู้นำอย่าง ซัดดัม ฮุสเซน ถือว่าเป็นสงครามที่ยุโรปและสหรัฐอเมริกามีคู่ต่อกรในยุคสงครามสมัยใหม่ เช่นเดียวกับ บิน ลาเดน ที่เป็นความขัดแย้งกับประเทศในตะวันออกกลาง ซึ่งดูเหมือนจะเพิ่มความบาดหมางระหว่างกันมากขึ้น
  
“ต้นเหตุของความขัดแย้งของยุโรปซึ่งร่วมมือกับสหรัฐอเมริกาช่วงหลังมีต่อตะวันออกกลางปัจจัยด้านทรัพยากรน้ำมันเป็นเหตุผลหนึ่ง ที่ดูมีน้ำหนักทำให้ประเทศพันธมิตรต่าง ๆ เข้ามาร่วมรบกันอย่างแข็งขัน ตรงข้ามกับจีนและเกาหลีเหนือที่ชาติพันธมิตรมีความไม่พอใจอยู่บ้าง แต่ประเทศเหล่านั้นมีประชากรที่มากและมีอาวุธในการต่อรอง ซึ่งหากเกิดสงครามขึ้นย่อมก่อให้เกิดความเสียหายเป็นวงกว้างซึ่งไม่คุ้มต่อความสูญเสีย”
  
แต่สิ่งหนึ่งที่ก่อให้เกิดสงครามในประเทศอาหรับ โดยมีชาติตะวันตกและสหรัฐอเมริกาเข้าไปเกี่ยวข้อง มีส่วนจากเทคโนโลยีสมัยใหม่ในการติดต่อสื่อสารผ่านทางอินเทอร์เน็ตเป็นส่วนเร่งให้ประชาชนภายในเห็นโลกภายนอกกว้างขึ้น และเกิดการกดดันผู้นำ ซึ่งไม่ใช่เฉพาะปัจจัยภายนอกประเทศอย่างเดียวแต่ปัจจัยภายในของผู้นำประเทศก็เป็นอีกส่วนที่ต้องทำให้ประชาชนยอมรับ แต่เมื่อทั้งปัจจัยภายในและภายนอกกดดันก็ทำให้ประชาชนต้องต่อสู้กับผู้นำเองด้วย
  
ในส่วนกลุ่มอัล-กออิดะห์หลังขาดผู้นำอย่าง “บิน ลาเดน” ย่อมเป็นเรื่องยากที่จะมีพลังได้อย่างเดิมเนื่องจากตัวผู้นำเดิมมีพลังและเงินในการใช้จ่ายสูง ส่งผลให้กลุ่มของตนมีการพัฒนาไปอย่างเป็นระบบและมีพลัง แต่หลังจากขาดผู้นำกลุ่มเหล่านี้จะเริ่มแผ่วลงเรื่อย ๆ
  
สำหรับหลายคนที่เป็นห่วงเรื่องอนาคตที่สงครามอาจกลับมาในเอเชียอีกครั้งเหมือนในอดีตด้วยเงื่อนไขของแหล่งอาหารค่อนข้างเป็นไปได้ยาก แต่สิ่งที่กลุ่มประเทศมหาอำนาจต้องการน่าจะเป็นน้ำมากกว่า เพราะด้วยเทคโนโลยีทำให้การผลิตอาหารมีประสิทธิภาพเพิ่มผลผลิตมากขึ้นในภาวะที่ลงทุนน้อยลง ดังนั้นจึงยังไม่น่าเป็นห่วงเท่าที่ควร
  
อนาคตความขัดแย้งยังคงมีต่อไปตราบใดที่ยังมีมนุษย์ ซึ่งยังคาดเดาไม่ได้ว่าจะรุนแรงมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับสถานการณ์เป็นตัวกำหนด และไทยเองก็เป็นเพียงประเทศเล็ก ๆ ที่ทำได้แค่แสดงความคิดเห็นเท่านั้น
  
แม้วันนี้สันติภาพของโลกยังไม่เกิดแจ่มชัดนัก รวมถึงในประเทศของเราและเพื่อนบ้าน แต่สิ่งหนึ่งที่มุ่งหวังก็คือ ขอให้การกดขี่มีให้น้อยเท่าที่จะเป็นไปได้.

.................................
4 ผู้ร้ายในสายตาชาวโลก?


1. อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ เป็นนักการเมืองเยอรมนีสัญชาติออสเตรียโดยกำเนิด หัวหน้าพรรคแรงงานสังคมนิยมแห่งชาติเยอรมัน หรือที่รู้จักกันทั่วไปในชื่อ พรรคนาซี ฮิตเลอร์ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเยอรมนี มีบทบาทสำคัญในการรุ่งเรืองของฟาสซิสต์ในทวีปยุโรป สงครามโลกครั้งที่สอง และการล้างชาติโดยนาซีจากการสอบสวนอย่างเป็นทางการของกองทัพรัสเซีย ทำให้เกิดข้อสรุปในประวัติศาสตร์ทั่วไปว่า ฮิตเลอร์ได้ฆ่าตัวตายพร้อม ๆ กับภรรยาในกรุงเบอร์ลิน เมื่อวันที่ 30 เมษายน ค.ศ. 1945 ก่อนที่กรุงเบอร์ลินจะถูกยึดในอีกไม่นาน โดยเชื่อว่าฮิตเลอร์ใช้วิธียิงตัวตาย แต่ก็ยังมีบางส่วนเชื่อว่าฮิตเลอร์สามารถหนีออกจากกรุงเบอร์ลินได้ก่อนที่เบอร์ลินจะแตก ทำให้การเสียชีวิตของฮิตเลอร์ยังคงเป็นข้อถกเถียงมาจนถึงทุกวันนี้
  
2. เช เกวารา นักปฏิวัติแนวมาร์กซิสต์ชาวอาร์เจนตินา และเป็นหนึ่งในสมาชิกของกลุ่ม 26 กรกฎาคม ของฟิเดล คาสโตร ซึ่งเป็นกลุ่มที่ปฏิวัติประเทศคิวบาเมื่อปี พ.ศ. 2502 เติบโตในครอบครัวที่มั่งมี เรียนจบมหาวิทยาลัยในสาขาแพทยศาสตร์ หลังจากพิธีรับปริญญาเพียง 25 วัน ได้เดินทางกับเพื่อนด้วยมอเตอร์ไซค์ไปทั่วอเมริกาใต้ เช ละทิ้งฐานันดรและครอบครัวของตนเองไว้ที่เม็กซิโก มุ่งสู่เกาะคิวบาเพื่อหวังจะล้มล้างระบอบการปกครองเผด็จการของฟุลเคนซีโอ บาซิสตา สร้างกลุ่มกำลังของตนเองเพื่อหวังจะทำการปฏิวัติในคิวบา หลังจากปฏิวัติสำเร็จในคิวบา เชได้ออกจากคิวบาในปี พ.ศ. 2508 โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะทำให้ประเทศอื่นเกิดความเคลื่อนไหวทางการเมืองอีก เช่น สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก และประเทศโบลิเวีย ซึ่งที่โบลิเวียนี้ เขาถูกจับได้โดยกองทัพโบลิเวียซึ่งมีหน่วยสืบราชการลับกลาง (ซีไอเอ) ของสหรัฐอเมริกาสนับสนุนอยู่ และถูกสังหารทันทีหลังจากที่ถูก  จับตัวได้ และเขาทิ้งไว้เพียงคำพูดสุดท้ายที่ว่า ยิงฉันเลย...ฉันมันก็แค่ผู้ชายธรรมดา คนนึง...
  
3. ซัดดัม ฮุสเซน  เป็นอดีตประธานาธิบดีของอิรัก ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปีพ.ศ. 2522 จนกระทั่งถูกจับกุมและถอดออกจากตำแหน่ง สหรัฐอเมริกาและชาติอื่น ๆ ในประชาคมโลกยังคงเฝ้าระวังจับตามองซัดดัมด้วยความหวาดระแวงว่ามีอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูงไว้ในครอบครอง ซัดดัมได้ถูกถอดถอนโดยสหรัฐและฝ่ายพันธมิตรในการบุกอิรักเมื่อปี พ.ศ. 2546 วันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2549 ผู้พิพากษาศาลอิรัก สั่งลงโทษประหารชีวิตโดยการแขวนคอซัดดัม ในคดีสังหารหมู่ชาวชีอะห์ 148 คน ที่หมู่บ้านแห่งหนึ่งในเมือง ดูเญล เมื่อปี พ.ศ. 2525 โดยเขาถูกประหารชีวิตในวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2549
    
4. โอซามา บิน ลาเดน เป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งและหัวหน้าอัล-กออิดะห์ เป็นผู้ต้องสงสัยว่าอยู่เบื้องหลังการก่อวินาศกรรม 11 กันยายน พ.ศ. 2544 และเป็นหนึ่งในสิบบุคคลที่สำนักงานสืบสวนกลางแห่งสหรัฐอเมริกา (เอฟบีไอ) ต้องการตัวมากที่สุด และเมื่อเร็ว ๆ นี้มีข่าวแพร่สะพัดถึงการสังหารเขา.

1 ความคิดเห็น: